พระจันทร์รุ่งสาง (http://www.oknation.net/blog/pannida/2012/11/12/entry-10) ได้กล่าวถึงการเรียนรู้แบบเรียนรวมไว้ว่า
การศึกษาแบบเรียนรวม
การศึกษาแบบเรียนรวม หมายถึง การรับเด็กเข้ารับการศึกษาโดยไม่แบ่งแยกความบกพร่องของเด็ก หรือคัดแยกเด็กที่ด้อยว่าเด็กส่วนใหญ่ออกจากชั้นเรียน แต่จะใช้การบริหารจัดการและวิธีการในการให้เด็กเกิดการเรียนรู้และพัฒนาการตามความต้องการ จำเป็นอย่างเหมาะสมเป็นรายบุคคล
ลักษณะของการจัดการศึกษาแบบเรียนรวม
ความแตกต่างจากรูปแบบการจัดการศึกษาสำหรับเด็กพิเศษและเด็กปกติคือ จะต้องถือหลักการดังนี้
• เด็กแต่ละคนมีความแตกต่างกัน
• เด็กทุกคนเข้าเรียนในโรงเรียนพร้อมกัน
• โรงเรียนจะต้องปรับสภาพแวดล้อมในการเรียนรู้ทุกด้านเพื่อให้สามารถสอนเด็กได้ทุกคน
• โรงเรียนจะต้องให้บริการ สื่อ สิ่งอำนวยความสะดวกและความช่วยเหลือต่าง ๆ ทางการศึกษาให้แก่เด็กที่มีความต้องการจำเป็นนอกเหนือจากเด็กปกติทุกคน
• โรงเรียนสามารถจัดการศึกษาได้หลายรูปแบบในโรงเรียนปกติทั่วไปโดยจัดให้มีสภาพแวดล้อมที่มีขีดจำกัดน้อยที่สุด
• เด็กทุกคนเข้าเรียนในโรงเรียนพร้อมกัน
• โรงเรียนจะต้องปรับสภาพแวดล้อมในการเรียนรู้ทุกด้านเพื่อให้สามารถสอนเด็กได้ทุกคน
• โรงเรียนจะต้องให้บริการ สื่อ สิ่งอำนวยความสะดวกและความช่วยเหลือต่าง ๆ ทางการศึกษาให้แก่เด็กที่มีความต้องการจำเป็นนอกเหนือจากเด็กปกติทุกคน
• โรงเรียนสามารถจัดการศึกษาได้หลายรูปแบบในโรงเรียนปกติทั่วไปโดยจัดให้มีสภาพแวดล้อมที่มีขีดจำกัดน้อยที่สุด
ศึกษาแบบเรียนรวมมีรูปแบบใด
การจัดการศึกษาแบบเรียนรวม เป็นการจัดการศึกษาสำหรับเด็กพิเศษที่มีขีดจำกัดน้อยที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับการจัดการศึกษาในรูปแบบต่าง ๆ การศึกษาแบบเรียนรวมจะมีบรรยากาศที่เป็นจริงตามสภาพของสังคมในปัจจุบัน ซึ่งทุกคนในโรงเรียนจะมีความตระหนักเกี่ยวกับสิทธิความเสมอภาคในด้านการศึกษา มีความแตกต่างกันตามศักยภาพในการเรียนรู้ มีความร่วมมือช่วยเหลือกันและกันเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการเรียนรู้ ฝึกทักษะความสามารถในการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างเป็นสุข มีความยืดหยุ่นและปฏิบัติตนตามสภาพจริงได้อย่างเหมาะสม
ศึกษาแบบเรียนรวมมีหลักการใด
การศึกษาแบบเรียนรวม มีหลักการว่า เด็กเลือกโรงเรียนไม่ใช่โรงเรียนเลือกเด็ก เด็กทุกคนมีสิทธิที่จะเรียนรวมกันโดยโรงเรียนและครูจะต้องปรับสภาพแวดล้อม หลักสูตรวัตถุประสงค์ เทคนิคการสอน สื่ออุปกรณ์ การประเมินผลเพื่อให้ครูและโรงเรียนสามารถจัดการเรียนการสอนเพื่อสนองความต้องการของเด็กทุกคนเป็นรายบุคคลได้
แนวคิดและปรัญญาของการจัดการศึกษาแบบเรียนรวม
การจัดการศึกษาแบบเรียนรวม จะต้องร่วมมือกันระหว่างองค์กรที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน รวมทั้งผู้ปกครองและชุมชน โดยปลูกฝังด้านจิตสำนึกและเจตคติเกี่ยวกับการจัดการศึกษาให้แก่เด็กทุกคนโดยคำนึงถึงศักยภาพความแตกต่างระหว่างบุคคล หรือความบกพร่องเฉพาะบุคคล ซึ่งจะให้สิทธิเท่าเทียมกันทุกคน โดยไม่เลือกปฏิบัติต่อบุคคลใดเป็นพิเศษเฉพาะ
ปรัญญาของการศึกษาแบบเรียนรวม
การจัดการศึกษาแบบเรียนรวม เกิดจากปรัชญาการศึกษาที่กล่าวไว้ว่า การศึกษาเพื่อทุกคน (Education for All) เพราะเด็กแต่ละคนจะมีความแตกต่างทั้งในด้านร่างกาย สติปัญญา อารมณ์และสังคม ดังนั้นความต้องการของเด็ก ๆ ทุกคนย่อมมีความแตกต่างกันแม้อยู่ในชั้นเรียนเดียวกัน โรงเรียนและครูจึงต้องปรับเปลี่ยนเพื่อให้เด็กทุกคนเรียนรวมกันและได้รับการพัฒนาเต็มศักยภาพของแต่ละบุคคล
ทฤษฎีของการศึกษาแบบเรียนรวม
การดำเนินการศึกษาแบบเรียนรวม มีหลักการดังนี้ทำสัญญาร่วมกันในการจัดการศึกษาแบบเรียนรวม ซึ่งองค์การสหประชาชาติ ได้ประกาศไว้เมื่อปี คริสตศักราช 1995 ให้ทุกประเทศจัดการศึกษาแบบเรียนรวมดำเนินการตามหลักการแบ่งสัดส่วนตามธรรมชาติ ซึ่งในสังคมหรือชุมชนหนึ่ง ๆ จะมีเด็กพิการหรือเด็กพิเศษปะปนอยู่ เด็กทั้งหมดควรอยู่ร่วมกันตามปกติ โดยไม่มีการนำเด็กพิเศษออกจากชุมชนมารวมกันเพื่อรับการศึกษาที่เป็นการขัดแย้งกับธรรมชาตินำบุคลากรทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเด็กมาทำงานร่วมกัน ได้แก่ พ่อแม่ ผู้ปกครอง ของเด็กปกติและเด็กพิเศษ ผู้บริหารโรงเรียน ผู้ช่วยผู้บริหาร ครูประจำชั้น ครูพิเศษ และบุคลากรในชุมชนอื่น ๆ
พัฒนาเครือข่ายผู้ให้การสนับสนุน ซึ่งครูทุกคนในโรงเรียนจะต้องช่วยกันทำงานไม่ถือว่าเป็นหน้าที่ของคนใดคนหนึ่ง ถ้าหากมีเด็กพิเศษในโรงเรียน รวมทั้งการพบพูดคุยและปรึกษากับผู้ปกครอง จัดให้ผู้ปกครองเด็กพิเศษด้วยกันและผู้ปกครองเด็กปกติพบกันเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกันหรือสนับสนุนในเรื่องต่าง ๆ แก่กันจัดให้มีกิจกรรมร่วมกันระหว่างเด็ก ผู้ปกครอง ครู ผู้บริหารและบุคลากรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการใช้ทรัพยากรร่วมกันทั้งในโรงเรียนและในชุมชน รวมทั้งจัดสรรงบประมาณทั้งภาครัฐและเอกชนในกิจกรรมร่วมระหว่างเด็กพิเศษกับเด็กปกติจัดการปรับเปลี่ยนหลักสูตร เพื่อให้เกิดความเหมาะสมและครอบคลุมถึงเด็กพิเศษทุกคนในกลุ่มเด็กปกติจัดให้มีความยืดหยุ่นในทุกสถานการณ์ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่เด็กพิเศษและเด็กปกติทุกคน
หลักการการจัดการศึกษาแบบเรียนรวม
แผนการจัดการศึกษาแบบเรียนรวมการเรียนรู้ของเด็กที่มีความต้องการพิเศษ
ลักษณะความแตกต่างกันระหว่างบุคคลมีผลต่อระดับความสำเร็จในการเรียนรู้ ทั้งนี้เพราะการเรียนรู้เป็นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปจากเดิมเพื่อไปสู่พฤติกรรมใหม่ที่ค่อนข้างถาวร อันเป็นผลมาจากประสบการณ์ หรือการฝึกฝน ซึ่งการเรียนรู้ของคนเราอาศัยประสาทสัมผัส ได้แก่ หู ตา จมูกลิ้น กาย ใจ เป็นองค์ประกอบหลักของการเรียนรู้และการรับรู้ หากมีส่วนใดส่วนหนึ่งสูญเสีย หรือบกพร่องไปย่อมมีผลต่อการเรียนรู้ และการรับรู้ตามไปด้วย ทำให้การเรียนรู้ของเด็กต้องล้มเหลว เรียนไม่ได้ดีเท่าที่ควรหรือเกิดข้อขัดข้องเสียก่อน ซึ่งอาจจัดเป็นองค์ประกอบใหญ่ ๆ ได้ 3 ประการ
1. องค์ประกอบด้านสรีรวิทยา ได้แก่ สาเหตุที่สืบเนื่องมาจากการทำงานผิดปกติของระบบการทำงานของร่างกาย เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับปัญหาทางร่างกายของเด็กเอง
2. องค์ประกอบด้านจิตวิทยา ได้แก่ สติปัญญา อัตราเร็วของการเรียนรู้ ความรู้สึกนึกคิดเกี่ยวกับตนเอง การปรับตัวทางอารมณ์และสังคม ความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวและเพื่อน
3. องค์ประกอบด้านสภาพแวดล้อม ตลอดจนประสบการณ์ต่าง ๆ เด็กที่มีความต้องการพิเศษย่อมได้รับผลกระทบต่อการเรียนรู้ในด้าน ต่าง ๆ และหากเป็นเด็กที่มีความบกพร่องทางด้านต่าง ๆ ซ้อนจะมีผลกระทบต่อการเรียนรู้มากขึ้นไปอีก ซึ่งแยกพิจารณาถึงผลกระทบของความบกพร่องที่มีต่อการเรียนรู้ของเด็กที่มีความต้องการแต่ละประเภท ดังนี้
เด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา
เด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา จะพบว่าสติปัญญาเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ และเด่นชัดที่สุดในเรื่องของการเรียนรู้ การพัฒนาการในด้านการเคลื่อนไหวด้านภาษา ด้านความคิดรวบยอด ด้านอารมณ์ และด้านสังคม ของเด็กจะเป็นไปตามกฎเกณฑ์ได้เพราะเด็กมีสติปัญญาเป็นปกติ แต่หากมีความบกพร่องทางสติปัญญาแล้วพัฒนาการด้านต่าง ๆ ของเด็กจะล่าช้าไป หรือไม่เป็นไปตามวัยที่ควรจะเป็น
เด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน
เด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน จะพบว่าการสูญเสียการได้ยิน และปัญหาทางการเรียนรู้มักเป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกัน เพราะเป็นเรื่องที่ต้องเกี่ยวข้องกับภาษา คนเราเรียนรู้ภาษาและการพูดโดยการรับรู้จากการได้ยิน ซึ่งการเรียนรู้ภาษาและการพูดจะช่วยให้คนเราสามารถเรียนรู้สิ่งอื่น ๆ ได้เพิ่มมากขึ้นและกว้างขวางขึ้น ดังนั้นหากมีความบกพร่องทางการได้ยิน ความสามารถในการเรียนรู้ก็จะลดน้อยไป เพราะไม่มีภาษาและการพูดการติดต่อกับผู้อื่นเพื่อการเรียนรู้ และพัฒนาตนเองทางด้านสังคมก็จะบกพร่องตามไปด้วย
เด็กที่มีความบกพร่องทางการเห็น
เด็กที่มีความบกพร่องทางการเห็น จะพบว่าการเห็นและการเรียนรู้จะมีความสัมพันธ์กัน คนเราใช้การเห็นเพื่อการเรียนรู้เป็นสำคัญ หากมีความบกพร่องทางการเห็นแล้วมักจะส่งผลต่อการเรียนรู้อย่างเด่นชัด มองเห็นวัตถุกลมเป็นรูปเบี้ยวและพร่า เห็นเส้นแนวตั้งแนวขวางได้ชัดเจนไม่เท่ากัน ดังนั้นจึงถือว่าการเห็นมีอิทธิพลต่อการเรียนรู้ เด็กที่มีความบกพร่องทางการเห็นจะต้องปรับตัวในแบบต่าง ๆ หลายอย่างด้วยกันและในช่วงเวลาของการปรับตัวเหล่านี้จะทำให้เด็กที่มีความบกพร่องทางการเห็นขาดโอกาสในการเรียนรู้ไปหรือทำให้เรียนรู้ได้ไม่ทันคนอื่น
เด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกายและสุขภาพ
เด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกายและสุขภาพ จะพบว่าร่างกายและสุขภาพที่ดีก็ช่วยให้มีการเรียนรู้ที่ราบรื่น ส่วนคนที่มีความบกพร่องทางร่างกายและสุขภาพก็ต้องมาเสียพลังงาน ความสนใจอยู่ในเรื่องร่างกายและสุขภาพมากกว่าการเรียนรู้ หรือเพราะความบกพร่องทางร่างกายและสุขภาพจึงทำให้เด็กต้องรักษาพยาบาลหรือเคลื่อนไหวได้ไม่เต็มที่จึงขาดโอกาสที่จะเรียนรู้และพัฒนาตนเอง หรือได้รับการเอาใจใส่ที่จะช่วยให้เด็กได้มีโอกาสเรียนรู้ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกายและสุขภาพได้รับผลกระทบจากสาเหตุของความบกพร่องทางร่างกายและสุขภาพ จนไม่สามารถพัฒนาตนเองได้อย่างเต็มที่ ร่างกายและสุขภาพที่เหมาะสมเป็นส่วนสำคัญของความพร้อมของเด็ก เด็กที่บกพร่องทางร่างกายและสุขภาพจะทำให้ตื่นตัวและพร้อมที่จะร่วมกิจกรรมทางการเรียนรู้ในอัตราเดียวกับเด็กปกติย่อมเป็นไปไม่ได้ นอกจากนี้การมีร่างกายหรือสุขภาพไม่ดีก็ยังทำให้เด็กต้องขาดเรียนซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้เกิดปัญหาด้านการเรียนรู้ เพราะเป็นเหตุให้เด็กขาดโอกาสในการฝึกทักษะที่จำเป็นตังแต่เริ่มแรก
เด็กที่มีความบกพร่องทางการพูดและภาษา
เด็กที่มีความบกพร่องทางการพูดและภาษา จะพบว่าเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปแล้วว่า การพูดและภาษามีความสัมพันธ์อย่างมากกับความสำเร็จในการเรียนรู้ของคนเรา ซึ่งบทบาทของการพูดและภาษานั้นจะมีมากหรือน้อยเพียงไรนั้นส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับโอกาสที่เด็กจะได้รับจากสิ่งแวดล้อม ความสำคัญของสิ่งแวดล้อมนี้เห็นได้ชัดเจนจากเด็กที่มาจากครอบครัวซึ่งอยู่ในสภาพขาดแคลน ห่างไกลจากชุมชน หรืออยู่ในวัฒนธรรมที่ไม่ได้ฝึกใช้ภาษาตั้งแต่เยาว์วัย ทำให้มีปัญหาเมื่อเริ่มเรียน เพราะขาดภาษา หรือมีความล่าช้าด้านพัฒนาการทางภาษา การพูดและภาษาเป็นเสมือนกุญแจสำคัญในการพัฒนาการและการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพของเด็ก ดังนั้นหากเด็กมีความบกพร่องทางการพูดและภาษาแล้วการเรียนรู้ในด้านต่าง ๆ ก็จะบกพร่องตามไปด้วย ซึ่งทางการศึกษาถือกันว่าการพูดและภาษาเป็นเครื่องมือของการเรียนรู้
เด็กที่มีความบกพร่องทางพฤติกรรมและอารมณ์
เด็กที่มีความบกพร่องทางพฤติกรรมและอารมณ์ จะพบว่าความบกพร่องทางพฤติกรรมและอารมณ์เกี่ยวข้องกับเรื่องการปรับตัวทางอารมณ์และสังคม และเป็นปัญหาที่พบกันเสมอในหมู่เด็กที่ประสบความล้มเหลวทางการเรียนรู้ แม้แต่ผลการวิจัยเองก็มักจะออกมาในทำนองสนับสนุนให้เห็นว่า ความบกพร่องทางพฤติกรรมและอารมณ์เกี่ยวข้องกับเรื่องของการปรับตัวทางด้านอารมณ์และสังคม คือ เกิดความตึงเครียดของประสาท การมีความคิดเกี่ยวกับตนเองที่ไม่เหมาะสม ความกลัว หรือความกังวลต่อการเรียนรู้ ช่วงความสนใจสั้น ไม่เป็นตัวของตัวเอง กังวล เก็บตัว มีพฤติกรรมต่อต้านสังคม ไม่มีความรับผิดชอบ อย่างไรก็ตามไม่สามารถจะสรุปได้ว่าการที่เด็กมีความบกพร่องทางพฤติกรรมและอารมณ์นั้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นก่อน หรือหลังการมีปัญหาด้านการเรียนรู้
เด็กที่มีปัญหาทางการเรียนรู้
เด็กที่มีปัญหาทางการเรียนรู้ จะพบว่าปัญหาทางการเรียนรู้ของเด็กส่วนใหญ่เกิดจากกระบวนการของการรับรู้ ซึ่งความสามารถในการแยกแยะสิ่งต่าง ๆ มีอิทธิพลต่อความสามารถในการจำมากกว่าความสมารถในการเห็นความแตกต่าง และความคล้ายคลึงกันของสิ่งที่เรียนรู้อย่างไร้ความหมาย ดังนั้นถ้าเด็กคนใดบกพร่องในเรื่องการจำก็ควรฝึกฝนเกี่ยวกับรูปร่าง ถ้าบกพร่องในเรื่องของการแยกแยะ ก็ฝึกเกี่ยวกับการแยกแยะ เพราะประสบการณ์ตรงเหล่านี้มีผลต่อการเรียนรู้ของเด็ก และมีผลต่อพัฒนาการในด้านต่าง ๆ ของเด็กอย่างมาก ดังนั้นเด็กที่มีปัญหาทางการเรียนรู้จึงมีผลกระทบโดยตรงในด้านการเรียนรู้ ซึ่งการเรียนรู้ของคนเราต้องอาศัยองค์ประกอบที่สัมพันธ์กันทั้งภายในและภายนอก เด็กที่มีปัญหาทางการเรียนรู้จึงเป็นผลมาจากองค์ประกอบทางการเรียนรู้ต่าง ๆ และทำให้เด็กเหล่านี้มีพัฒนาการในด้านต่าง ๆและมีความสามารถที่แตกต่างจากคนทั่ว ๆ ไป
การจัดการศึกษาสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ
การศึกษาพิเศษ เป็นกระบวนการในการพัฒนาความสามารถของเด็กตามสภาพของความแตกต่างระหว่างบุคคล และเอกลักษณ์ของแต่ละคนวิธีการที่นำมาใช้สอนและอบรมเพื่อพัฒนาเด็กจึงจำเป็นต้องปรับให้เหมาะสมกับเด็กแต่ละคนด้วย โดยมีเป้าหมายที่ต้องการให้เป็นประชากรที่มีคุณภาพสามารถพึ่งตนเองและก่อให้เกิดประโยชน์แก่สังคมมากที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ในการจัดการศึกษาสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ จึงได้ยึดหลักของความแตกต่างระหว่างบุคคล และการมีเอกลักษณ์เฉพาะของแต่ละคนเป็นเครื่องช่วยให้เกิดความสำเร็จในการจัดการศึกษาเช่นเดียวกัน ดังนั้นจึงเห็นได้ว่าเด็กที่มีความต้องการพิเศษแต่ละประเภทจะมีหลักในการจัดการศึกษาที่แตกต่างกันไป
chaokuay spor (http://edsubscience.blogspot.com/2013/09/blog-post.html) ได้กล่าวถึงการเรียนรู้แบบเรียนรวมไว้ดังนี้
การเรียนรวม หมายถึง การจัดการบริหาร สนับสนุน ส่งเสริมครูและผู้บริหารในโรงเรียนปกติให้การจัดการศึกษาสำหรับเด็กพิเศษในโรงเรียนปกติโดยไม่มีการแบ่งแยกว่าเด็กคนใดเป็นปกติหรือเด็กคนใดเป็นเด็กพิเศษ ไม่คำนึงถึงความรุนแรงในสภาพความพิการ มีการจัดเตรียมโปรแกรมการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคลสำหรับเด็กพิเศษอย่างเหมาะสม ให้เด็กพิเศษได้เข้าเรียนรวมในชั้นเรียนวิชาการและกิจกรรมพิเศษเท่าที่จะเป็นไปได้ รวมถึงการทำกิจกรรมต่างๆ เช่นเดียวกับนักเรียนปกติ สนับสนุนให้นักเรียนพิการ ได้มีเพื่อนผู้ช่วยหรือเพื่อนคู่หูเช่นเดียวกับเด็กปกติ จัดให้นักเรียนพิการได้รับการศึกษาในชุมชนและสิ่งแวดล้อมต่อไป สอนและแนะนำให้นักเรียนเข้าใจและยอมรับในความแตกต่าง และให้พ่อแม่ผู้ปกครองมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง
เทคนิคการสอนเด็กพิเศษ
เนื้อหา ความจำเป็นในการเลือกใช้เทคนิคการสอน
การเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพ คือ การสอนที่พบว่าหลังจากเด็กได้รับความรู้ หรือมีการพัฒนาในด้านต่างๆ เพิ่มขึ้นตามวัตถุประสงค์ที่ครูตั้งไว้ ซึ่งครูอาจมีวิธีการมากมายที่จะทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ แต่ไม่ได้หมายความว่า ครูเลือกใช้วิธีใดวิธีหนึ่งแล้วประสบความสำเร็จ จึงใช้วิธีเดียวกันนี้สำหรับสอนเด็กทุกน เพื่อให้เด็กเหล่านั้นพัฒนาขึ้นเท่าเทียมกัน ทั้งนี้เพราะเด็กมีพื้นฐานต่างกัน ความรู้ความสามารถของเด็กแต่ละคนก็ไม่เท่ากัน เด็กอาจได้รับประโยชน์จากการเรียนการสอนไม่เต็มที่ ถ้าหากครูใช้วิธีการสอนเช่นนี้ ดังนั้นครูจึงต้องปรับเปลี่ยนเทคนิคการสอน เลือกใช้เทคนิคการสอนที่เหมาะสม เพื่อตอบสนองต่อเด็กกลุ่มที่มีความหลากหลายในห้องเรียนรวม
แนวคิดในการปรับเปลี่ยนเทคนิคการสอน ได้แก่
1. การเรียนการสอนที่ดี ควรยึดเด็กเป็นศูนย์กลาง (Child Center)
2. เด็กมีความแตกต่างกัน
3. เด็กมีความสามารถในการคิดและรับรู้ต่างกัน
เนื้อหา และเทคนิคการสอนเด็กในชั้นเรียนรวม
ในปัจจุบันประเทศต่างๆ ทั่วโลกต่างให้การยอมรับการจัดการศึกษาแบบเรียนรวม ดังได้ร่วมทำสัญญาการดำเนินการจัดการศึกษาแบบเรียนรวมพร้อมกันในที่ประชุม (UNESCO) ณ ประเทศสเปน ปี ค.ศ. 1995 ดังนั้นจึงมีการปรับเปลี่ยนแนวทางการจัดการศึกษาและหาวิธีการเพื่อส่งเสริมให้การเรียนรวมมีความก้าวหน้ายิ่งขึ้น ซึ่งมีผู้กล่าวว่า ควรคำนึงถึงสิ่งสำคัญบางประการ ในการดำเนินการ คือ
1. ต้องปรับเปลี่ยนหลักสูตรชั้นเรียนปกติเพื่อให้ตอบสนองความต้องการของเด็กที่มีความต้องการพิเศษ
2. ต้องพัฒนาทัศนคติของทุกหน่วยงานการศึกษาที่มีต่อเด็กที่มีความต้องการพิเศษให้เป็นไปในเชิงบวก
3. ต้องพัฒนานโยบายของโรงเรียนต่างๆ ให้เปิดกว้างเพื่อรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษเข้าเรียนรวมตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม
4. ให้บุคลากรทุกฝ่ายในโรงเรียนปกติเห็นความสำคัญและรับผิดชอบร่วมกันในการจัดการศึกษาสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ
นอกจากนี้นักการศึกษาพิเศษยังได้แนะนำวิธีการหลัก 5 วิธี ในการสอนเด็กพิเศษในห้องเรียนรวมให้ประสบผลสำเร็จด้วยดี ดังนี้
1. สร้างห้องเรียนที่มีบรรยากาศของการสนับสนุนซึ่งกันและกัน (Building a Supportive Classroom)
2. ใช้วิธีการเรียนโดยร่วมมือกันในการเรียนรู้ (Using Co-operative Learning)
3. สอนเรื่องเดียวกันแก่เด็กที่มีความสามารถแตกต่างกัน (Working on the same topic with different abilities)
4. ใช้ผู้ช่วงสอนมาช่วยสอนในห้องเรียน (Classroom tutors) โดยอาจเป็นเพื่อช่วยสอน (Peer tutoring) หรือผู้ปกครองและอาสาสมัครอื่นๆ ก็ได้
5. สร้างทีมสนับสนุนโรงเรียน (Building a school support team)
จะเห็นได้ว่า การจัดการศึกษาแบบเรียนรวม จำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนหลายประการดังกล่าวมาแล้ว เช่น หลักสูตร ทัศนคติของบุคคลรอบข้างที่เกี่ยวข้อง วิธีการสอน เป็นต้น และการวิเคราะห์งานการเรียนโดยการร่วมมือกัน (Co-opeative Learning) การสอนเรื่องเดียวกันแก่เด็กที่มีความสามารถต่างกัน การสอนแบบเพื่อนช่วยสอน (Peer tutoring) เป็นวิธีการสอนหนึ่งในหลายๆ วิธีการที่ได้รับการยอมรับว่ามีประสิทธิภาพสำหรับการจัดการศึกษาแบบเรียนรวม
เทคนิคการวิเคราะห์งาน (Task Analysis)
การวิเคราะห์งาน เป็นวิธีการสอนที่เหมาะสมกับเด็กที่มีความต้องการพิเศษวิธีหนึ่ง ซึ่งครูวางแผนการสอนอย่างดีมีเป้าหมาย และแบ่งกิจกรรมหรืองานใดงานหนึ่งเป็นขั้นตอนย่อยๆ จากขั้นตอนแรกไปจนขั้นตอนสุดท้าย และสอนไปตามลำดับขั้นตอนที่ละขั้นจนเด็กทำได้สำเร็จ ดังนั้นการวิเคราะห์งานจึงจัดเป็นเทคนิคการสอนอย่างหนึ่งที่ครูจะต้องนำมาใช้เพื่อให้การสอนมีประสิทธิภาพมากขึ้น
การวิเคราะห์งาน หมายถึง กระบวนการที่ใช้แยกงานออกเป็นขั้นตอนย่อยอย่างต่อเนื่องกัน โดยมีการจัดลำดับขั้นตอนย่อยของงาน และอธิบายขั้นตอนที่สำคัญของงานทั้งหมด
งานในที่นี้คือ คือ พฤติกรรมใดพฤติกรรมหนึ่ง หรือกลุ่มพฤติกรรมที่แต่ละบุคคลต้องปฏิบัติ เพื่อแสดงให้เห็นว่ามีทักษะหรือความรู้นั้นๆ แบ่งได้เป็น 2 งาน ดังนี้
1. งานเป้าหมาย (Target task) หรือพฤติกรรมเป้าหมาย (Terminal behavior)
2. งานย่อย (Subtask) หรือพฤติกรรมย่อย (Intermediate behavior)
http://academic.obec.go.th/web/node/82 ได้รวบรวมเกี่ยวกับการรียนรู้แบบเรียนรวมไว้ดังนี้
วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับการจัดการศึกษาแบบเรียนรวม (Inclusive Education) ซึ่งเป็นการจัดการศึกษาสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ซึ่งรวมถึงเด็กที่มีความสามารถพิเศษด้วย การจัดการศึกษาแบบเรียนรวม เกิดจากปรัชญาการศึกษาที่กล่าวถึง การศึกษาเพื่อทุกคน(Education for All) เพราะเด็กแต่ละคนมีความแตกต่างดังนั้นความต้องการย่อมแตกต่างกัน แม้จะอยู่ในชั้นเรียนเดียวกัน โรงเรียนและครูจึงต้องปรับเปลี่ยนเพื่อให้เด็กทุกคนเรียนรวมกันและได้รับการพัฒนาเต็มศักยภาพของแต่ละบุคคล(ERICEC,2002)
การจัดการศึกษาแบบเรียนรวมสำหรับนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษ
ในปี ค.ศ. 1995 UNESCO ได้ประกาศให้ทุกประเทศจัดการศึกษาแบบเรียนรวม(Inclusive Education) ซึ่งการเรียนรวมในห้องปกติเป็นวิธีการที่ถูกต้องทั้งในมิติทางด้านสังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจ โดยมีมโนทัศน์ของการเรียนรวม คือ การร่วมกิจกรรมในชั้นปกติให้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นในด้านเวลา ด้านการเรียนการสอน และด้านสังคม โดยมีพื้นฐานอยู่บนกระบวนการการวางแผนการศึกษาเฉพาะบุคคล(IEP : Individualized Education Program) และมีการกำหนดแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบระหว่างบุคลากรในฝ่ายบริหาร ฝ่ายสอน และฝ่ายสนับสนุนทั้งในด้านการศึกษาปกติและการศึกษาพิเศษ (Kauffman,1981)
การจัดการศึกษาแบบเรียนรวม(Inclusive Education)เป็นแนวคิดใหม่ที่โรงเรียนจะต้องจัดการศึกษาให้แก่เด็กทุกคน ไม่มีการแบ่งแยก ไม่มีห้องเรียนพิเศษ แต่จะจัดให้เด็กเรียนรวมกันในสภาพแวดล้อมในชั้นเรียนปกติ เด็กที่มีความสามารถพิเศษจะเรียนร่วมกับเด็กปกติ ซึ่งจะช่วยให้พวกเขาได้แสดงออกซึ่งความสามารถ และศักยภาพที่แฝงเร้นออกมาให้ชัดเจน โดยจะเน้นให้เด็กได้รับโอกาสการพัฒนาทักษะทางด้านสังคม และ การได้รับการยอมรับเป็นส่วนหนึ่งของสังคม การได้รับการยอมรับจากสังคมจะเป็นพื้นฐานที่ช่วยกระตุ้นหรือดึงเอาส่วนของความสามารถที่มีคุณค่าที่แฝงเร้นอยู่ในความต่างของเด็กที่มีความสามารถพิเศษกับเด็กปกติออกมาได้ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น และพัฒนาความสามารถเหล่านั้นได้อย่างเต็มศักยภาพบนพื้นฐานของการเสริมในจุดเด่น ซ่อมในจุดบกพร่อง และบนพื้นฐานของความเชื่อที่ว่า เด็กทุกคนสามารถเรียนรู้ได้ถ้าได้รับการช่วยเหลือสนับสนุนที่เหมาะสม ซึ่งสามารถทำได้หลายลักษณะทั้งเรียนรวมแบบเต็มเวลา หรือ เรียนรวมบางเวลา โดยใช้แผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคล (IEP : Individualized Education Program) ซึ่งเป็นแผนการจัดการศึกษาที่เกิดจากความร่วมมือของหลายฝ่าย ซึ่งแผนการศึกษาเฉพาะบุคคลจะมีความเหมาะสมและสอดคล้อง กับความต้องการ ความสามารถของเด็กแต่ละคน ( National Institute for Urban School,2009)
แนวคิดหลัก (Major Concepts) ซึ่งนำมาใช้เป็นแนวทางในการจัดการศึกษาแบบรวม คือ
1. โอกาสที่เท่าเทียมกัน (Equal Opportunity) ในการจัดการศึกษาแบบเรียนรวม ครูจะต้องมีความเชื่อว่า เด็กทุกคนต้องมีสิทธิในการได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน
2.ความหลากหลาย (Diversity)และการยอมรับความแตกต่าง(Individual Differences) การจัดการศึกษาควรคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล
3. การเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน (Mutual Respect) เด็กควรได้รับการปลูกฝังให้เคารพสิทธิของตนเองและผู้อื่น
4. สิ่งแวดล้อมที่มีความจำกัดน้อยที่สุด (Least Restrictive Environment) ให้โอกาสเด็กที่มีความสามารถพิเศษได้เข้าเรียนและมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนที่เป็นเด็กปกติในสิ่งแวดล้อมที่เป็นปกติมากที่สุด(ผดุง อารยะวิญญู และ วาสนา เลิศศิลป์,2550)
สรุป
การเรียนรู้แบบเรียนรวม หมายถึง การรับเด็กเข้ารับการศึกษาโดยไม่แบ่งแยกความบกพร่องของเด็ก หรือคัดแยกเด็กที่ด้อยว่าเด็กส่วนใหญ่ออกจากชั้นเรียน แต่จะใช้การบริหารจัดการและวิธีการในการให้เด็กเกิดการเรียนรู้และพัฒนาการตามความต้องการ จำเป็นอย่างเหมาะสมเป็นรายบุคคล
หลักการการจัดการศึกษาแบบเรียนรวมแผนการจัดการศึกษาแบบเรียนรวมการเรียนรู้ของเด็กที่มีความต้องการพิเศษลักษณะความแตกต่างกันระหว่างบุคคลมีผลต่อระดับความสำเร็จในการเรียนรู้ ซึ่งอาจจัดเป็นองค์ประกอบใหญ่ ๆ ได้ 3 ประการ
1. องค์ประกอบด้านสรีรวิทยา
2. องค์ประกอบด้านจิตวิทยา
3. องค์ประกอบด้านสภาพแวดล้อม
ที่มา
พระจันทร์รุ่งสาง.[online].http://www.oknation.net/blog/pannida/2012/11/12/entry-10.การจัดการศึกษาแบบเรียนรวมและจัดการศึกษาแบบเรียนร่วม.สืบค้นเมื่อ 14 กรกฎาคม 2558.
chaokuay spor.[online].http://edsubscience.blogspot.com/2013/09/blog-post.html.การศึกษา.สืบค้นเมื่อ 14 กรกฎาคม 2558.
http://academic.obec.go.th/web/node/82.กลุ่มพัฒนาการศึกษาสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษ.สืบค้นเมื่อ 14 กรกฎาคม 2558.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น