วันศุกร์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

การประเมินผลการเรียนรู้

          สุรางค์ โค้วตระกูล (2541: 416-418) ได้กล่าวถึงการประเมินผลไว้ว่า  การประเมินผล (Evaluation)เป็นกระบวนการที่มีความจำเป็นสำหรับโปรแกรมทุกอย่างของโรงเรียนตั้งแต่หลักสูตรการเรียนการสอน โปรแกรมอาหารกลางวันของนักเรียนควรจะได้รับการประเมินว่าได้ผลคุ้มอย่างไร การประเมินผลอาจจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ
1) การประเมินผลบั้นปลายตอนจบหลักสูตร (Summative Evaluation)
            การประเมินผลประเภทนี้มักจะประเมินเมื่อผู้เรียนได้เรียนจบหลักสูตรของวิชาหนึ่งๆแล้วในโรงเรียนอาจจะเป็นตอนกลางปีหรือปลายปีก็ได้ นอกจากนี้อาจจะใช้การประเมินผลแบบ Summative เมื่อมีการอบรมพิเศษ เพื่อแสดงว่าผู้เข้าอบรมได้เรียนรู้ตามหลักสูตร ถ้าหากผู้เรียนผ่านการสอบการประเมินผลแบบ Summative อาจจะทำโดยผู้เชี่ยวชาญทางการศึกษาถ้าหากที่จะประเมินผลของการศึกษาทุกแง่ทุกมุม เช่น ทัศนคติของนักเรียน หนังสือ ตำราที่ทางโรงเรียนใช้ เวลาที่นักเรียนใช้ในการเรียนการสอนแต่ละวิชาความรู้ที่นักเรียนรู้แล้วนำไปประยุกต์ในชีวิตประจำวันได้หรือไม่
2) การประเมินผลเพื่อการปรับปรุงแก้ไข (Formative Evaluation)
            Scriven (1967) เป็นผู้ริเริ่มแนะนำให้ผู้ที่มีส่วนสร้างหลักสูตรที่ใช้ในโรงเรียนใช้วิธีประเมิลผล เพื่อการปรับปรุงแก้ไข (Formative Evaluation) ในการพัฒนาหลักสูตรเพื่อจะได้ทราบว่าหลักสูตรใช้ได้ผลดีหรือไม่ดีอย่างไร โดยประเมินหลักสูตรเป็นตอนๆ ถ้าพบข้อบกพร่องก็จะได้ดัดแปลงแก้ไขทันท่วงที ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสร้างหลักสูตร Scriven กล่าวว่าวิธีการสร้างหลักสูตรคณะกรรมการการสร้าง หลักสูตรมักจะทำงานสร้างหลักสูตรตั้งแต่ต้นจนจบแล้วนำออกไปใช้ในโรงเรียนโดยไม่ได้ทำการทดลองเป็นขั้นๆ ถ้าหากผู้ใช้เสนอแนะให้แก้ไขผู้สร้างหลักสูตรก็มักจะพยายามที่จะต่อต้านไม่ให้มีการเปลี่ยนแปลง เพราะคิดว่าได้ทุ่มเทกำลังงานไปมากแล้ว ดังนั้นถ้าหากผู้สร้างหลักสูตรจะใช้การประเมินผลแบบ Formative ประเมินผลเป็นตอนๆ ผู้สร้างอาจจะใช้ข้อมูลที่ได้ไปปรับปรุงแก้ไขหลักสูตรให้ดีขึ้น
          Bloom, et. Al., (1971) ได้เสนอแนะให้ครูใช้ Formative Evaluation ในโรงเรียนเพื่อช่วยนักเรียนให้เรียนรู้ แลได้กล่าวถึงประโยชน์ของFormative Evaluation ไว้ดังต่อไปนี้
         1.ช่วยให้นักเรียนแต่ละคนทราบว่าตนเองสามารถที่จะเรียนรู้จนรอบรู้ (Master) หน่วยการเรียนแต่ละหน่วยหรือไม่ โดยใช้วัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ก็จะเป็นแรงเสริมให้นักเรียนมีแรงจูงใจที่จะเรียนรู้ต่อไป และในกรณีที่นักเรียนทำไม่ได้ครูก็จะได้ช่วยนักเรียนได้ทันท่วงที ทำให้นักเรียนซาบซึ้งในความเอาใจใส่ของครู ทำให้นักเรียนเอาใส่ในบทเรียนมากขึ้น และพยายามเรียนรู้สิ่งที่ทำไม่ได้จนรอบรู้

          2.ช่วยครูในการสอนนักเรียน เพื่อให้เหมาะสมกับความสามารถของนักเรียนแต่ละคน ครูอาจจะแบ่งหน่วยของการเรียนแต่ละหน่วยออกเป็นส่วนย่อย ตามลำดับความยากง่าย เป็นต้นว่าหน่วยเรียนเกี่ยวกับการเรียนเลขเศษส่วน ครูอาจจะแบ่งหน่วยเรียนออกเป็น 10 ขั้น ตามลำดับความยากง่าย ดูว่านักเรียนแต่ละคนอยู่ระดับใด ตั้งต้นจากการบวก ลบ คูณ หาร เลขจำนวนเต็ม  จนถึงการใช้เศษส่วน ความหมายของเศษส่วน การบวก ลบ คูณ หาร เศษส่วนเป็นต้น ถ้านักเรียน บวก ลบ คูณ หาร เลขจำนวนเต็มไม่ได้ก็ยากที่จะเรียนเลข บวก ลบ คูณ หาร เศษส่วนได้ การวิจัยเกี่ยวกับนักเรียนที่ไม่มีความถนัดทางเลขพบว่า ถ้าครูพยายามช่วยโดยการแบ่งหน่วยเรียนเป็นส่วนย่อยและใช้ Formative Evaluation จะสามารถช่วยนักเรียนในการเรียนเลขได้ เพราะเมื่อนักเรียนสามารถทำได้ตามวัตถุประสงค์ของหน่วยเรียนขั้นง่ายแล้วก็จะสามารถที่จะทำขั้นต่อไปโดยไม่ยากนัก
           3.ช่วยครูวิเคราะห์ว่าจุดอ่อนของนักเรียนอยู่ที่ไหน หรือปัญหาของนักเรียนที่ทำไม่ได้คืออะไร และบอกให้นักเรียนแต่ละคนทราบปัญหาในการเรียนแต่ละหน่วย และวิเคราะห์ต่อไปว่า ทำไมนักเรียนถึงมีปัญหาทำไม่ได้ บางครั้งปัญหาก็ง่ายที่จะปรับปรุงแก้ไข เช่น การเลินเล่อ อ่านโจทย์ หรือคำถามไม่ละเอียด หรือตีความหมายผิด หรือบางครั้งอาจจะเป็นเพราะความรู้พื้นฐานที่จำเป็นของนักเรียนไม่มี ไม่ว่าปัญหาของนักเรียนจะเป็นประเภทใด ถ้าทราบก็จะได้แก้ไขทันท่วงที
          4.ครูอาจจะใช้ Formative Evaluation ช่วยปรับปรุงการสอนของครู เป็นต้นว่า ถ้าหากนักเรียนทั้งห้องทำข้อหนึ่งข้อใดผิดก็แสดงว่าการสอนหรือการอธิบายของครูอาจจะไม่แจ่มแจ้ง หรือทำให้นักเรียนเข้าใจผิด ถ้าหากนักเรียนมากกว่าครึ่งห้องไม่สามารถทำได้ ก็แสดงว่าครูควรจะหาวิธีสอนหรือวิธีอธิบายหน่วยเรียนใหม่ หรือใช้ตัวอย่างหรืออุปกรณ์การสอนที่จะช่วยให้นักเรียนเรียนรู้อย่างรอบรู้คือ สามารถทำได้ตามเกณฑ์ที่ตั้งไว้

         5.Formative Evaluation ช่วยให้ทั้งครูและนักเรียนตั้งความคาดหวังสำหรับความสัมฤทธิผลของการสอบไล่ปลายปีได้ ถ้านักเรียนทราบอยู่ตลอดเวลาว่าตนทำได้ จากผลของ Formative Evaluation ก็จะตั้งความคาดหวังหรือระดับความทะเยอทะยานในการสอบไล่ไว้สูง และคิดว่าตนคงจะทำได้เป็นการช่วยให้นักเรียนมีแรงจูงใจที่จะตั้งใจเรียนให้ดี สำหรับนักเรียนที่ทำไม่ได้ก็มีโอกาสแก้ตัว พยายามแก้ไขจุดอ่อนของตน สามารถเรียนรู้จนรอบรู้ หน่วยเรียนแต่ละหน่วยได้ทำให้มีความมั่นใจในเวลาสอบไล่

            ยุพิน พิพิธกุล (ม.ป.ป.:  118-120) ได้กล่าวถึงการประเมินผลการเรียนรู้ไว้ว่า ในการประเมินผลนั้น ย่อมมีวิธีการต่างๆ กันไปแล้วแต่โรงเรียนจะกำหนด ถึงในปัจจุบันมีคะแนนงานระหว่างปี ครูอาจจะประเมินผลด้วยการออกข้อทดสอบ การตรวจแบบฝึกหัด การให้งานมอบหมาย ฯลฯ ซึ่งเป็นเทคนิคของครุแต่ละคน แต่อย่างไรก็ตามทุกโรงเรียนจะต้องมีการสอบ ดังนั้นก่อนที่จะสอบครูจะต้องตั้งวัตถุประสงค์เสียก่อนว่า ครูจะประเมินผลอย่างไร และเมื่อไร โรงเรียนย่อมจัดการสอนตามความเหมาะสม ซึ่งส่วนมากก็จะมีการสอบปลายภาค และสอบปลายปีการศึกษา เพื่อให้เข้าใจถึงการประเมินเมื่อไรและอย่างไร ขอแบ่งการประเมินผลออกเป็น 2 ประการ ดังนี้
          1. การประเมินผลย่อย (Formative evaluation)
          2. การประเมินผลรวม (Summative evaluation)
การประเมินผลย่อย ลักษณะของการประเมินผลย่อย มีดังนี้
          1. เป็นการแบ่งวิชาออกเป็นหน่อยย่อยหลายๆหน่วย ซึ่งแต่ละหน่วยอาจใช้เวลาเรียน 1-2สัปดาห์ แต่ละหน่วยนั้นอาจเป็นบทเรียนบทหนึ่ง เมื่อจบตอนแล้วก็มีการออกข้อทดสอบย่อย
          2. จุดมุ่งหมายที่สำคัญของการประเมินผลย่อย ไม่ใช่การใช้เกรดที่จะไปตัดสินได้ตกหรือเกี่ยวกับการเลื่อนชั้น แต่ควรจะเป็นการช่วยนักเรียนและครูปรับปรุงการเรียนการสอน เพื่อให้เกิดการเรียนรู้อย่างแท้จริงการประเมินผลย่อยนี้กระทำในระหว่างที่ครูกำลังดำเนินการสอนอยู่ และควรทำต่อเนื่องกันไปโดยสม่ำเสมอ เมื่อพบข้อบกพร่องตอนใดก็แก้ไขได้ทันท่วงที
          3. ควรจะสร้างแบบทดสอบเพื่อวินิจฉัยความก้าวหน้าของนักเรียนเป็นระยะๆ เพื่อตรวจดูว่านักเรียนสามารถเรียนรู้ได้มากน้อยเพียงใด และเมื่อรู้ข้อบกพร่องคราวต่อไปก็ควรจะได้ชี้แจงหรืออธิบายเพิ่มเติม
          4. การทดสอบย่อย ควรจะได้กระทำก่อนที่จะสอนใหม่ หรือควรจะทดลอบเกี่ยวกับทักษะ และความคิดรวบยอดในด้านต่างๆ ก่อนที่จะมีการทดสอบรวม
          5. การทดสอบย่อย เป็นประโยชน์ในการที่จะรวบรวมผลและข้อบกพร่องต่างๆไว้ซึ่งจะเป็นแนวทางในการสร้างหลักสูตรใหม่
          6. ผู้ที่ใช้การประเมินผลแบบนี้ ควรจะตรวจดูว่าผลของการประเมินตรงกับจุดมุ่งหมายของการเรียนการสอนที่ตั้งไว้หรือไม่ แต่อย่างไรก็ตาม การออกข้อสอบแต่ละหน่วยหรือบทนั้นอาจจะวัดพฤติกรรมไม่ได้ครบทุกอย่าง
          7. การประเมินผลย่อมจะเป็นเครื่องช่วยกระตุ้นให้นักเรียนเกิดการแข่งขัน และเรียนด้วยความตั้งใจอยู่เสมอ
          8. การประเมินผลย่อยจะช่วยนักเรียนได้มาก เพราะเป็นการแบ่งขั้นการเรียนรู้ออกเป็นหน่วยย่อยตามลำดับ จะทำให้นักเรียนเลิกวิตกกังวล เพราะเมื่อนักเรียนไม่ทราบตรงจุดไหนครูก็อธิบายเพิ่มเติมหรือทบทวนเสียก่อน
          9. การประเมินผลย่อยมิได้มุ่งแบ่งแยกนักเรียน แต่มุ่งที่จะให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้อย่างแท้จริง
          10. ในการสร้างข้อทดสอบย่อยนั้น ไม่ต้องการความรู้ใหม่ หรือทักษะที่ผิดปกติอย่างใด แต่จะเป็นการสร้างคำถามที่เรียงตามลำดับความสำคัญของพฤติกรรมการเรียนรู้และตามลำดับการสอนของครู
การประเมินผลรวม ลักษณะของการประเมินผลรวม มีดังนี้
          1. เป็นการประเมินผลรวมทั้งหมดของหลักสูตร หรือเมื่อจบวิชาหนึ่ง ใช้ในการสอบไล่เพื่อเลื่อนชั้น หรือให้ประกาศนียบัตร เป็นการประเมินคำที่ใช้ตอนสิ้นเทอมหรือปลายปี หรือเรียนครบวิชา ครบโปรแกรม ใช้ประเมินผลความก้าวหน้าหรือวินิจฉัยเกี่ยวกับผลของหลักสูตรหรือผลของการศึกษา หรือโครงการแห่งการศึกษา เป็นการประเมินผลเมื่อการเรียนการสอนสิ้นสุดลงแล้ว
          2. จุดมุ่งหมายของการประเมินผลรวม คือ ให้มีการทดสอบรวมและให้คะแนนเพื่อนำไปตัดสินการได้ตกหรือเลื่อนชั้นนักเรียน
          3. การประเมินผลรวมนี้ใช้เปรียบเทียบผลการเรียนรู้ตลอดปี หรือตลอดเทอมของนักเรียนเป็นรายบุคคล
          4. การประเมินผลรวม จะมีการทดสอบสองหรือสามครั้งในแต่ละวิชา ซึ่งโดยปกติมักจะทำปลายภาคปละปลายปี
          5. การประเมินผลรวมนี้ใช้ในการพิจารณาเริ่มต้นการสอนของวิชาที่จะสอนสืบต่อกันไป
          6. การประเมินผลรวม มุ่งในการวัดผลทั่วๆไป ทั้งวิชาจะประเมินผลได้อย่างกว้างขวาง และวัดพฤติกรรมต่างๆได้ตามวัตถุประสงค์ของการเรียนการสอนที่ตั้งไว้
         ทิวัตถ์  มณีโชติ (ird.rmuti.ac.th/newweb/fmanager/files/1Tiwat.docได้กล่าวถึงการประเมินผลการเรียนรู้ไว้ว่า 
การประเมิน (Evaluation or Assessment or Appraisal)
ความหมาย
            การประเมินและการประเมินผล  มีความหมายทำนองเดียวกับ  การวัดและการวัดผล ดังนี้
           การประเมิน เป็นกระบวนการต่อเนื่องจากการวัด คือ นำตัวเลขหรือสัญลักษณ์ที่ได้จากการวัดมาตีค่าอย่างมีเหตุผล โดยเทียบกับเกณฑ์หรือมาตรฐานที่กำหนดไว้ เช่น โรงเรียนกำหนดคะแนนที่น่าพอใจของวิชาคณิตศาสตร์ไว้ที่ร้อยละ 60 นักเรียนที่สอบได้คะแนนตั้งแต่ 60 % ขึ้นไป ถือว่าผ่านเกณฑ์ที่น่าพอใจ  หรืออาจจะกำหนดเกณฑ์ไว้หลายระดับ  เช่น ได้คะแนนไม่ถึงร้อยละ 40  อยู่ในเกณฑ์ควรปรับปรุง  ร้อยละ 40-59 อยู่ในเกณฑ์พอใช้  ร้อยละ 60-79 อยู่ในเกณฑ์ดี และร้อยละ 80 ขึ้นไป  อยู่ในเกณฑ์ดีมาก เป็นต้น  ลักษณะเช่นนี้เรียกว่าเป็นการประเมิน       
            การประเมินผล  มีความหมายเช่นเดียวกับการประเมิน  แต่เป็นกระบวนการต่อเนื่องจากการวัดผล
สำหรับภาษาอังกฤษมีหลายคำ  ที่ใช้มากมี 2 คำ คือ evaluation  และ  assessment     2 คำนี้มีความหมายต่างกัน  คือ
evaluation  เป็นการประเมินตัดสิน  มีการกำหนดเกณฑ์ชัดเจน (absolute criteria)  เช่น ได้คะแนนร้อยละ 80 ขึ้นไป ตัดสินว่าอยู่ในระดับดี  ได้คะแนนร้อยละ 60 79  ตัดสินว่าอยู่ในระดับพอใช้  ได้คะแนนไม่ถึงร้อยละ 60  ตัดสินว่าอยู่ในระดับควรปรับปรุง  evaluation  จะใช้กับการประเมินการดำเนินงานทั่วๆ ไป  เช่น  การประเมินโครงการ (Project Evaluation)  การประเมินหลักสูตร (Curriculum Evaluation)
assessment  เป็นการประเมินเชิงเปรียบเทียบ  ใช้เกณฑ์เชิงสัมพันธ์ (relative criteria) เช่น เทียบกับผลการประเมินครั้งก่อน  เทียบกับเพื่อนหรือกลุ่มใกล้เคียงกัน assessment  มักใช้ในการประเมินผลสัมฤทธิ์ เช่น ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน  การประเมินตนเอง  (Self Assessment)
ลักษณะการประเมินทางการศึกษา
            การประเมินทางการศึกษามีลักษณะ ดังนี้
1.เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนการสอนหรือกระบวนการจัดการเรียนรู้ ซึ่งควรทำการประเมินอย่างต่อเนื่อง  เพื่อนำผลการประเมินไปปรับปรุงกระบวนการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
2.เป็นการประเมินคุณลักษณะหรือพัฒนาการการเรียนรู้ของผู้เรียนว่าบรรลุตามจุดประสงค์หรือไม่
3.เป็นการประเมินในภาพรวมทั้งหมดของผู้เรียน โดยการรวบรวมข้อมูลและประมวลจากตัวเลขจากการวัดหลายวิธีและหลายแหล่ง
        4.เป็นกระบวนการเกี่ยวข้องกับบุคลหลายกลุ่ม ทั้งครู  นักเรียน  ผู้ปกครองนักเรียน  ผู้บริหารโรงเรียน และอาจรวมถึงคณะกรรมการต่างๆ ของโรงเรียน
หลักการประเมินทางการศึกษา
หลักการประเมินทางการศึกษาโดยทั่วไปมีดังนี้
1. ขอบเขตการประเมินต้องตรงและครอบคลุมหลักสูตร
            2. ใช้ข้อมูลจากผลการวัดที่ครอบคลุม  จากการวัดหลายแหล่ง  หลายวิธี
3.เกณฑ์ที่ใช้ตัดสินผลการประเมินมีความชัดเจนเป็นไปได้มีความยุติธรรม  ตรงตามวัตถุประสงค์ของหลักสูตร
ขั้นตอนในการประเมินทางการศึกษา
          การประเมินทางการศึกษามีขั้นตอนที่สำคัญ ดังนี้
1. กำหนดจุดประสงค์การประเมิน   โดยให้สอดคล้องและครอบคลุมจุดประสงค์ของหลักสูตร
2. กำหนดเกณฑ์เพื่อตีค่าข้อมูลที่ได้จาการวัด
3. รวบรวมข้อมูลจากการวัดหลายๆ แหล่ง
4. ประมวลและผสมผสานข้อมูลต่างๆ ของทุกรายการที่วัดได้
5. วินิจฉัยชี้บ่งและตัดสินโดยเทียบกับเกณฑ์ที่ตั้งไว้
ประเภทของการประเมินทางการศึกษา
          การประเมินแบ่งได้หลายประเภท  ขึ้นอยู่กับเกณฑ์ที่ใช้ในการแบ่ง  ดังนี้
1. แบ่งตามจุดประสงค์ของการประเมิน
   การแบ่งตามจุดประสงค์ของการประเมิน แบ่งได้ดังนี้
   1.1 การประเมินก่อนเรียน  หรือก่อนการจัดการเรียนรู้  หรือการประเมินพื้นฐาน (Basic Evaluation) เป็นการประเมินก่อนเริ่มต้นการเรียนการสอนของแต่ละบทเรียนหรือแต่ละหน่วย  แบ่งได้ 2 ประเภท คือ
        1.1.1 การประเมินเพื่อจัดตำแหน่ง (Placement Evaluation) เป็นการประเมินเพื่อพิจารณาดูว่าผู้เรียนมีความรู้ความสามารถในสาระที่จะเรียนอยู้ในระดับใดของกลุ่ม  ประโยชน์ของการประเมินประเภทนี้  คือ ครูใช้ผลการประเมินเพื่อกำหนดรูปแบบการจัดการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับกลุ่มผู้เรียน  ผู้เรียนที่มีความรู้ความสามารถในสาระที่จะเรียนน้อยคืออยู่ในตำแหน่งท้ายๆ ควรได้รับการเพิ่มพูนเนื้อหาสาระนั้นมากกว่ากลุ่มที่อยู่ในลำดับต้นๆ คือ กลุ่มที่มีความรู้ความสามารถในสาระที่จะเรียนมากกว่า  หรือกลุ่มที่มีความรู้พื้นฐานในสาระที่จะเรียนดีกว่า  และแต่ละกลุ่มควรใช้รูปแบบการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน
        1.1.2 การประเมินเพื่อวินิจฉัย (Diagnostic Evaluation) เป็นการประเมินก่อนการเรียนการสอนอีกเช่นกัน  แต่เป็นการประเมินเพื่อพิจารณาแยกแยะว่าผู้เรียนมีความรู้ความสามารถในสาระที่จะเรียนรู้มากน้อยเพียงใด  มีพื้นฐานเพียงพอที่จะเรียนในเรื่องที่จะสอนหรือไม่  จุดใดสมบูรณ์แล้ว  จุดใดยังบกพร่องอยู่  จำเป็นต้องได้รับการสอนเสริมให้มีพื้นฐานที่เพียงพอเสียก่อนจึงจะเริ่มต้นสอนเนื้อหาในหน่วยการเรียนต่อไป  และจากพื้นฐานที่ผู้เรียนมีอยู่ควรใช้รูปแบบการเรียนการสอนอย่างไร
                   ทั้งการประเมินเพื่อจัดตำแหน่งและการประเมินเพื่อวินิจฉัยมีจุดประสงค์เหมือนกันคือเพื่อทราบพื้นฐานความรู้ความสามารถของผู้เรียนก่อนที่จะจัดการเรียนรู้หรือการเรียนการสอนในสาระการเรียนรู้นั้นๆ  แต่การประเมิน 2 ประเภทดังกล่าวมีความแตกต่างกัน คือ การประเมินเพื่อจัดตำแหน่ง เป็นการประเมินเพื่อพิจารณาในภาพรวม  ใช้เครื่องมือไม่ละเอียดหรือจำนวนข้อคำถามไม่มาก  แต่การประเมินเพื่อวินิจฉัยเป็นการประเมินเพื่อพัฒนาอย่างละเอียด  แยกแยะเนื้อหาเป็นตอนๆ เพื่อพิจารณาว่าผู้เรียนมีความรู้พื้นฐานของเนื้อหาแต่ละตอนมากน้อยเพียงใด  จุดใดบกพร่องบ้าง  ดังนั้นจำนวนข้อคำถามมีมากกว่า
   1.2 การประเมินเพื่อพัฒนา หรือการประเมินย่อย (Formative Evaluation) เป็นการประเมินเพื่อใช้ผลการประเมินเพื่อปรับปรุงกระบวนการจัดการเรียนรู้ การประเมินประเภทนี้ใช้ระหว่างการจัดการเรียนการสอน  เพื่อตรวจสอบว่าผู้เรียนมีความรู้ความสามารถตามจุดประสงค์ที่กำหนดไว้ในระหว่างการจัดการเรียนการสอนหรือไม่  หากผู้เรียนไม่ผ่านจุดประสงค์ที่ตั้งไว้ ผู้สอนก็จะหาวิธีการที่จะช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามเกณฑ์ที่ตั้งไว้ ผลการประเมินยังเป็นการตรวจสอบครูผู้สอนเองว่าเป็นอย่างไร แผนการเรียนรู้รายครั้งที่เตรียมมาดีหรือไม่ ควรปรับปรุงอย่างไร  กระบวนการจัดการเรียนรู้เป็นอย่างไร มีจุดใดบกพร่องที่ต้องปรับปรุงแก้ไขต่อไป
                    การประเมินประเภทนี้  นอกจากจะใช้ผลการประเมินเพื่อปรับปรุงการเรียนการสอนแล้ว ผลการประเมินยังใช้ในการปรับปรุงหลักสูตรของสถานศึกษาด้วย กล่าวคือ หากพบว่าเนื้อหาสาระใดที่ผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์ไม่เป็นไปตามผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง  โดยที่ผู้สอนได้พยายามปรับปรุงการจัดการเรียนการสอนอย่างเต็มที่กับผู้เรียนหลายกลุ่มแล้วยังได้ผลเป็นอย่างเดิม แสดงว่าผลการเรียนรู้ที่คาดหวังนั้นสูงเกินไปหรือไม่เหมาะกับผู้เรียนในชั้นเรียนระดับนี้ หรือเนื้อหาอาจจะยากหรือซับซ้อนเกินไปที่จะบรรจุในหลักสูตรระดับนี้ ควรบรรจุในชั้นเรียนที่สูงขึ้น จะเห็นว่าผลจากการประเมินจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาด้วย
             1.3 การประเมินเพื่อตัดสินหรือการประเมินผลรวม (Summative Evaluation) เป็นการประเมินเพื่อตัดสินผลการจัดการเรียนรู้ เป็นการประเมินหลังจากผู้เรียนได้เรียนไปแล้ว อาจเป็นการประเมินหลังจบหน่วยการเรียนรู้หน่วยใดหน่วยหนึ่ง   หรือหลายหน่วย  รวมทั้งการประเมินปลายภาคเรียนหรือปลายปี ผลจากการประเมินประเภทนี้ใช้ในการตัดสินผลการจัดการเรียนการสอน หรือตัดสินใจว่าผู้เรียนคนใดควรจะได้รับระดับคะแนนใด

2. แบ่งตามการอ้างอิง
             การแบ่งประเภทของการประเมินตามการอ้างอิงหรือตามระบบของการวัด  แบ่งออกเป็น
             2.1 การประเมินแบบอิงตน (Self-referenced Evaluation) เป็นการประเมินเพื่อนำผลจากการเรียนรู้มาเปรียบเทียบกับความสามารถของตนเอง เป็นการประเมินเพื่อปรับปรุงตนเอง  (Self Assessment) เช่น ประเมินโดยการเปรียบเทียบผลการทดสอบก่อนเรียนกับทดสอบหลังเรียนของตนเอง การประเมินแบบนี้ ควรจะใช้แบบทดสอบคู่ขนานหรือแบบทดสอบเทียบเคียง (Equivalence Test) เพื่อเปรียบเทียบกันได้ 
2.2 การประเมินแบบอิงกลุ่ม (Norm-referenced Evaluation) เป็นการประเมินเพื่อพิจารณาว่าผู้ได้รับการประเมินแต่ละคนมีความสามารถมากน้อยเพียงใด เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ถูกวัดด้วยแบบทดสอบฉบับเดียวกัน การประเมินประเภทนี้ขึ้นอยู่กับความรู้ ความสามารถของกลุ่มเป็นสำคัญ นิยมใช้ในการจัดตำแหน่งผู้ถูกประเมิน หรือใช้เพื่อคัดเลือกผู้เข้าศึกษาต่อ
2.3 การประเมินแบบอิงเกณฑ์ (Criterion-referenced Evaluation) เป็นการนำผลการสอบที่ได้ไปเทียบกับเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ความสำคัญอยู่ที่เกณฑ์ โดยไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงความสามารถของกลุ่ม ซึ่งเกณฑ์ที่ใช้ในการประเมินผลการเรียนรู้ได้แก่ ผลการเรียนรู้ที่คาดหวังและมาตรฐานการเรียนรู้
3. แบ่งตามผู้ประเมิน
             การแบ่งประเภทของการประเมินตามกลุ่มผู้ประเมิน (Evaluator) แบ่งออกเป็น
             3.1 การประเมินตนเอง (Self Assessment) หรือการประเมินภายใน (Internal Evaluation) เป็นการประเมินลักษณะเดียวกับการประเมินแบบอิงตน คือ เพื่อนำผลการประเมินมาพัฒนาหรือปรับปรุงตนเอง  การประเมินประเภทนี้สามารถประเมินได้ทุกกลุ่ม  ผู้เรียนประเมินตนเองเพื่อปรับปรุงการเรียนรู้ของตนเอง  ครูประเมินเพื่อปรับปรุงการสอนของตนเอง นอกจากประเมินเพื่อพัฒนาปรับปรุงการเรียนการสอนแล้ว  สามารถประเมินเพื่อพัฒนาปรับปรุงได้ทุกเรื่อง ผู้บริหารสถานศึกษาประเมินเพื่อปรับปรุงการบริหารจัดการศึกษาของสถานศึกษาโดยอาจจะประเมินด้วยตนเอง หรือมีคณะประเมินของสถานศึกษา เรียกว่า การประเมินภายใน (Internal Evaluation) หรือการศึกษาตนเอง (Self Study) โดยอาจจะประเมินโดยรวม  หรือแบ่งประเมินเป็นส่วนๆ  เป็นด้านๆ  ลักษณะการประเมินอาจจะมีคณะเดียวประเมินทุกส่วน หรือจะให้แต่ละส่วนประเมินตนเองหรือภายในส่วนของตนเอง เช่น แต่ละระดับชั้นเรียน  แต่ละหมวดวิชาหรือกลุ่มสาระการเรียนรู้  แต่ละฝ่าย อาทิ ฝ่ายปกครอง  ฝ่ายวิชาการ  ฝ่ายอาคารสถานที่ เป็นต้น  เพื่อให้แต่ละส่วนมีการพัฒนาปรับปรุงการดำเนินงานของตนเอง และอาจจะรวบรวมผลการประเมินแต่ละส่วนเพื่อจัดทำเป็นรายงานผลการประเมินตนเองของสถานศึกษา (Self Study Report : SSR หรือ Self Assessment Report : SAR)
             3.2 การประเมินโดยผู้อื่นหรือการประเมินภายนอก (External Evaluation)  สืบเนื่องจากการประเมินตนเองหรือการประเมินภายในซึ่งมีความสำคัญมากในการพัฒนาปรับปรุง  แต่การประเมินภายในมีจุดอ่อนคือความน่าเชื่อถือ   โดยบุคคลภายนอกมักคิดว่าการประเมินภายในนั้น มีความลำเอียง  ผู้ประเมินตนเองมักจะเข้าข้างตนเอง  ดังนั้นจึงมีการประเมินโดยผู้อื่นหรือประเมินโดยผู้ประเมินภายนอก  เพื่อยืนยันการประเมินภายใน  และอาจจะมีจุดอ่อนหรือจุดที่ควรได้รับการพัฒนายิ่งขึ้นในทรรศนะของผู้ประเมินในฐานะที่มีประสบการณ์ที่แตกต่างกัน  อย่างไรก็ดี  การประเมินภายนอกก็มีจุดบกพร่องในเรื่องการรู้รายละเอียดและถูกต้องของสิงที่จะประเมิน  และจุดบกพร่องอีกประการหนึ่งคือเจตคติของผู้ถูกประเมิน ถ้ารู้สึกว่าถูกจับผิดก็จะต่อต้าน  ไม่ให้ความร่วมมือ  ไม่ยอมรับผลการประเมิน  ทำให้การประเมินดำเนินไปด้วยความยากลำบาก  ดังนั้นการประเมินภายนอกควรมาจากความต้องการของผู้ถูกประเมิน เช่น ครูผู้สอนให้ผู้เรียน  ผู้ปกครอง  หรือเพื่อนครูประเมินการสอนของตนเอง  สถานศึกษาให้ผู้ปกครองหรือนักประเมินมืออาชีพ (ภายนอก) ประเมินคุณภาพการจัดการศึกษาของสถานศึกษา
สรุป
          การประเมินผลการเรียนรู้  หมายถึง  การประเมิน เป็นกระบวนการต่อเนื่องจากการวัด คือ นำตัวเลขหรือสัญลักษณ์ที่ได้จากการวัดมาตีค่าอย่างมีเหตุผล โดยเทียบกับเกณฑ์หรือมาตรฐานที่กำหนดไว้
         จุดประสงค์ของการประเมิณผลการเรียนรู้
          การประเมินทางการศึกษามีขั้นตอนที่สำคัญ ดังนี้
1. กำหนดจุดประสงค์การประเมิน   โดยให้สอดคล้องและครอบคลุมจุดประสงค์ของหลักสูตร
2. กำหนดเกณฑ์เพื่อตีค่าข้อมูลที่ได้จาการวัด
3. รวบรวมข้อมูลจากการวัดหลายๆ แหล่ง
4. ประมวลและผสมผสานข้อมูลต่างๆ ของทุกรายการที่วัดได้
5. วินิจฉัยชี้บ่งและตัดสินโดยเทียบกับเกณฑ์ที่ตั้งไว้
ประเภทของการประเมิณผลการเรียนรู้
1) การประเมินผลบั้นปลายตอนจบหลักสูตร (Summative Evaluation)
2) การประเมินผลเพื่อการปรับปรุงแก้ไข (Formative Evaluation)
ประโยชน์ของการปะเมิณผลการเรียนรู้

          1.ช่วยให้นักเรียนแต่ละคนทราบว่าตนเองสามารถที่จะเรียนรู้จนรอบรู้ (Master) หน่วยการเรียนแต่ละหน่วยหรือไม่ 

          2.ช่วยครูในการสอนนักเรียน เพื่อให้เหมาะสมกับความสามารถของนักเรียนแต่ละคน
          3.ช่วยครูวิเคราะห์ว่าจุดอ่อนของนักเรียนอยู่ที่ไหน หรือปัญหาของนักเรียนที่ทำไม่ได้คืออะไร และบอกให้นักเรียนแต่ละคนทราบปัญหาในการเรียนแต่ละหน่วย
          4.ครูอาจจะใช้ Formative Evaluation ช่วยปรับปรุงการสอนของครู 

          5.Formative Evaluation ช่วยให้ทั้งครูและนักเรียนตั้งความคาดหวังสำหรับความสัมฤทธิผลของการสอบไล่ปลายปีได้ 

ที่มา
          สุรางค์ โค้วตระกุล.(2541). จิตวิทยาการศึกษา. (พิมพ์ครั้งที่ 4). กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
         ยุพิน พิพิธกุล.(ม.ป.ป.). การสอนคณิตศาสตร์ระดับมัธยมศึกษา. กรุงเทพฯกรุงเทพการพิมพ์.
         ทิวัตถ์  มณีโชติ.[online]. ird.rmuti.ac.th/newweb/fmanager/files/1Tiwat.doc.การวัดและประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียน.สืบค้นเมื่อ  25 กรกฎาคม  2558.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น